วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2558

วัดถ้ำพระโบราณ.

ถ้าใครมีโอกาสไปแม่สะเรียงขอแนะนำลองแวะที่วัดนี้ดูนะครับเป็นอีกวัดหนึ่งที่ฝรั่งชอบมากแนะนำให้ไปถึงวัดสักแปดโมงเช้าเพราะวัดนี้เป็นวัดป่าจะได้เห็นการถวายอาหารให้หลวงพ่อในวัดและท่านเจ้าอาวาสท่านใจดีมากๆ ทางไปวัดเส้นทางระหว่างแม่สะเรียง ไปแม่ฮ่องสอน ลองแวะดูนะครับแล้วจะได้รู้ว่าวัดดีพระน่านับถือนั้นยังมีอีกมาก...
ประวัติความเป็นมา.....
ถ้ำพระโบราณ หรือ ถ้ำเหง้า เป็นถ้ำเก่าแก่ ซึ่งปรากฎหลักฐานได้แก่ พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ พระไม้โพธิ์แกะลงรักปิดทอง ตู้พระธรรม ซึ่งได้ถูกลักขโมยไปหมด
จากหลักฐานฐานชุกชีแท่นพระประธานแบบก่ออิฐโบกด้วยดินเหนียว และมีแท่นพระเป็นไม้สัก
และมีจารึกมีใจความว่า วัดสร้าง ราวจุลศักราช 1259 (พ.ศ2440)กว่าร้อยปีแล้ว
สมัยนั้น มี หลวงพ่อใจเป็นประธานในการสร้างแท่นพระเพื่ออุทิศในพระพุทธศาสนา
โดยหลวงพ่อใจธุดงค์มาจากเชียงตุง พร้อมด้วยท่านเสนเป็นชาวไทลื้อ ได้นำพระบรมธาตุมาด้วย
เมื่อมาถึงแม่สะเรียงก็มาพักอยู่วัดมะแกง(วัดศรีบุญเรือง)นานเท่าไดมิได้รู้แล้วพากันธุดงค์ถึงวัดท่าข้ามใต้ได้ไปจำพรรษาอยู่วัดถ้ำพระโบราณหรือถ้ำเหง้านี้ ครั้นอยู่นาน การบิณฑบาตรก็ลำบาก
จึงคิดกลับวัดมะแกงก่อน ก่อนกลับได้นำเอาพระธาตุนี้ไว้ในถ้ำ โดยท่านเสนได้กลับไปจำพรรษาวัดมะแกงส่วนท่านใจไปจำพรรษาอยู่วัดป่าหนาด(วัดชัยลาภ)ท่านได้เป็นเจ้าอาวาสและสร้างวัดให้เจริญและคิดที่จะสร้างพระวิหาร เมื่อสร้างเสร็จจะได้นำเอาพระธาตุ มาบรรจุเมื่อสร้างเสร็จจึง ได้ชวนศรัทธาญาติโยมหาไม้เสาวิหารมาจนครบแล้ว จึงนึกถึงญาติท่านที่บ้านกาด แม่วาง จึงคิดจะไปบอกบุญหาปัจจัยมาเพื่อสร้างพระวิหาร แต่ท่านก็มรณภาพเสียก่อน พอถึงปี พ.ศ.2481 ระหว่างเดือนยี่ กับเดือน 3 เหนือ เป็นระยะที่ชาวบ้านทำสวนครัวปลูกผักและมีคนจีนชื่อเจ็กโหย่ง รับซื้อผัก วันหนึ่ง แม่เฒ่าเด้ นางเสา และนางสา พากันไปเอาขี้ค้างคาวที่ถ้ำเหง้าแห่งนี้ จนขุดพบหม้อโบราณลึกประมาณ 1 ศอก มีฝาปิดมิดชิด และได้เปิดฝาหม้อก็พบกับพระพุทธรูป 3 องค์ เป็นพระพุทธรูปทองคำ เงิน และสัมฤทธิ์ ช้อนเงิน ช้อนทอง อีก 1 คู่ และโกฎิเล็ก ๆ อีกหนึ่ง บรรจุพระธาตุองค์เท่าเมล็ดพุทรา แต่ทั้ง 3 คนยังไม่รู้จักพระธาตุ คิดว่าเป็นหินหรืออัญมณีมีค่า จึงเอาไปเก็บไว้ท่านบ้านของแม่เฒ่าเด้ นอกจากนั้นยังมีอีกชิ้นหนึ่งลักษณะเป็นแก้วใสคล้ายเพชร ซึ่งทำตกกับพื้นและหาไม่เจอ ฝ่ายแม่เฒ่าที่ได้เอาพระธาตุไปไว้ในบ้าน ได้เกิดเหตุการณ์แปลกประหลาดคือ ตกกลางคืนประมาณ3-4 ทุ่ม
ปรากฎมีแสงสว่างรุ่งโรจน์โชติช่วงทั้งบ้านเขาจึงรู้ว่าเป็นเพราะพระธาตุแสดงปาฏิหาริย์ รุ่งเช้าเจ้าอาวาสวัดท่าข้ามใต้คือท่านปัญญาวุฒิโฑ ได้ขออาราธนาพระพุทธรูปและพระธาตุไปประดิษฐานที่วัดท่าข้ามใต้ และ ทำการสมโภช พระธาตุ ต่อมาชาวแม่สะเรียงเมื่อทราบดังนั้นก็หลั่งไหล กันมาทำบุญ สักการะบูชากันไม่ขาดสาย และมีงานสรงน้ำพระธาตุประจำปีและทำบุญบริเวณถ้ำเหง้า และมีการจุดบ้องไฟถวายเป็นพุทธบูชาด้วย ประมาณปี 2522 เมื่อท่านอาจารย์รัตน์ รตนญาโณ ได้ทำการบูรณะโดยให้คนงานมาแต่งถ้ำ มีแท่นนั่งกรรมฐานและซ่อมแซมพระประธานบางส่วน นำพระพุทธรูปปูนปั้นมาทดแทนพระไม้เก่าแก่ที่ถูกโขมยไป และไม่ได้บูรณะต่อจึงรกร้างต่อไป ต่อมาท่านอาจารย์สวัสดิ์ นริสโร เจ้าอาวาสวัดจอมมอญ ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรโดยทำการซ่อมแซมฐานชุกชี เทปูน ก่อแท่นั่งกรรมฐาน สร้างแท้งน้ำ สร้างส้วมในปี 2539 และได้ปล่อยให้ร้างมีเมื่อต้นปี 2541 ท่านอาจารย์จรัญ อภิชาโต พระภิกษุสายพระป่ากรรมฐานซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่สิมพุทธจาโร วัดถ้ำผาปล่อง ได้เดินทางเข้ามาแม่สะเรียงเป็นว่าถ้ำแห่งนี้มีความวิเวก เหมาะแก่การอาศัยเจริญภาวนาจึงตัดสินใจอยู่จำพรรษาที่ถ้ำนี้จนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่พระอาจารย์จรัญ อภิชาโต มาพำนักอยู่ถ้ำแห่งนี้ ได้มีญาติโยมได้หลั่งไหลกันมาทำบุญ ท่านได้พัฒนาปรับปรุงหลายอย่างด้วยกัน คือ การปรับพื้น ขยายพื้นที่ภายในถ้ำ จัดหา
พระพุทธรูปให้ผู้คนได้กราบไหว้บูชา ต่อนำประปาภูเขามาใช้ ปรับปรุงเสนาสนะให้น่าอยู่ น่าอาศัย สะอาด เรียบร้อยสร้างถนนนขึ้นไปยังถ้ำ ท่านยังมีโครงการต่าง ๆ ที่จะปรับปรุงอีกหลายอย่าง สร้างห้องน้ำสำหรับญาติโยม ปูพื้นถ้ำด้วยหินอ่อน สร้างพระวิหาร ขณะนี้ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่จากป่าไม้ และเป็นวัดธรรมยุตอย่างถูกต้องแห่งแรกของอำเภอแม่สะเรียงโดยมีท่านอาจารย์จรัญ อภิชาโต ในตำแหน่งเจ้าอาวาส

วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

โซกพระร่วง.Sukhothai.

โซกพระร่วงลองพระขรรค์ โซกพระร่วงลองพระขรรค์ เล่ากันว่าวันหนึ่งพระร่วงออกเที่ยวป่าทางทิศใต้ของเมือง มาถึงลำธารแห่งหนึ่งมีน้ำไหลผ่านก้อนหินตะปุ่มตะป่ำเหมาะแก่การลับดาบจึงหยุดพักเพื่อจะเอาพระขรรค์มาลับกับหินเมื่อลับเสร็จได้เดินทางต่อไปโดยลัดเลาะไปตามเชิงเขาจนถึงต้นน้ำเห็นว่าเป็นอ่างน้ำขนาดใหญ่มีเขาปิดทางน้ำอยู่จึงคิดจะเปิดทางให้น้ำไหลไปยังที่นาของราษฎรจึงถอดพระขรรค์ออกมาฟันเขานั้นก็แยกเป็นสองตามคำอธิษฐานนั้นก็ไหลลงผ่านโซกเทลงไปเบื้องล่างเรียกว่าคลองเสาหอจนถึงทุกวันนี้สถานที่ที่พระร่วงลองพระขรรค์ก็มีชื่อเรียกว่าโซกพระร่วงลองพระขรรค์ส่วนหินที่ลับพระขรรค์เรียกว่าโซกหินลับมีด คำว่า โซก หรือ โตรก หมายถึงช่องลึกของเขา ร่องน้ำ โซกพระร่วง หรือ โซกพระร่วงลองพระขรรค์ มีลักษณะและประวัติความเป็นมา คือ จากหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ได้กล่าวถึงทางด้านทิศใต้ของเมืองสุโขทัยว่ามี สรีดภงส์ คือ ทำนบกั้นน้ำ ชาวเมืองเรียกว่า ทำนบพระร่วงทางด้านทิศใต้ของทำนบพระร่วงนี้ เป็นทิวเขาพระบาทใหญ่ต่อกับทิวเขาประทักษ์ถึง โซกพระร่วงลองพระขรรค์ ยาวประมาณ ๖ กิโลเมตร มีเขาตะโหงกงัวคั่นอยู่กึ่งกลางระหว่างทิวเขาทั้งสอง พื้นที่บริเวณหุบเขานี้จึงเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ชาวบ้านเรียก โตรกเขา หรือ โกรกเขา ว่า "โซก" คือ เป็นที่ทางน้ำไหลมารวมกัน ดังนั้น โซกพระร่วงจึงเป็นที่รวมของต้นน้ำ โซกพระร่วงลองพระขรรค์ มีต้นน้ำอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของทำนบพระร่วงมีความยาวแปดกิโลเมตร มีลักษณะเป็นหน้าผาหิน ตั้งสูงชันมากถึง ๔๐ เมตร ขนาบอยู่ทั้งสองข้างเหตุที่มีลักษณะเช่นนี้ผู้เชี่ยวชาญธรณีวิทยาได้อธิบายว่า รอยแตกของโซกพระร่วงนี้ เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เนื่องจากเกิดแผ่นดินไหวการหดตัวของหินหรือถูกบีบอัดจากการเกิดแผ่นดินไหวจนทำให้ ผิวธรณีฉีกขาด ลักษณะการฉีกขาดของหินควอทไซท์นั้นจะขาดในแนวตรง ส่วนตอนบนของเขาเป็นหินฟิลไลท์ซึ่งผุพังพลายได้ง่ายจึงผุกร่อน ต่อมาจึงกลายเป็นร่องน้ำไหลลงโซกเขากลายเป็นโซกพระร่วงลองพระขรรค์ ซึ่งมีลักษณะที่แปลก จึงชวนให้คิดจินตนาการเป็นตำนาน เล่าขานเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติอันมหัศจรรย์นี้ ตำนานที่เล่าเกี่ยวกับโซกพระร่วงนี้ คือ พระร่วงเจ้าเมืองสุโขทัยเสด็จออกประพาสป่าไปตามเชิงเขา ทอดพระเนตรธรรมชาติ นอกเมืองทางทิศใต้จนถึงโซกซึ่งเป็นอ่างขนาดใหญ่ มีเขาปิดกั้นทางน้ำอยู่พระองค์จึงตั้งจิตอธิษฐานแล้วฟันดาบลงไป เพื่อเปิดทางน้ำให้แยกออก จะได้มีน้ำหล่อเลี้ยงอาณาประชาราษฏร์ จึงทำให้เขาแยกจากกันเป็นที่น่าอัศจรรย์ 

วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2558

รอยพญานาค..










หนองปลาบึก จ.หนองคาย

บนทางหลวงหมายเลข 211 จากอำเภอสังคมมุ่งหน้าสู่อำเภอปากชม ระหว่างทางฝั่งซ้ายเป็นภูเขาต้นไม้สีเขียวขจี ฝั่งขวาเป็นแม่น้ำโขงตระการตา เส้นทางนี้เป็นจุดขับรถเลียบแม่น้ำโขงที่ดีที่สุดสำหรับการชมทิวทัศน์ และความงามทั้งหมดจะตื่นตาตื่นใจยิ่งขึ้นเมื่อคุณมาถึงบ้านหนอง หมู่บ้านปลายสุดของอำเภอสังคม เวิ้งแม่น้ำโขงบริเวณนี้กว้างใหญ่สวยงามมีแก่งหินมากมายเป็นจุดที่เรียกว่า “หนองปลาบึก” เหตุผลอธิบายเรียบร้อยด้วยชื่อ ในอดีตที่นี่เป็นแหล่งปลาบึกชุกชุมมาก แต่แน่ล่ะปัจจุบันสถานการณ์ที่ หนองปลาบึก เปลี่ยนแปลงไป เพราะปลาบึกตามธรรมชาติลดน้อยลง โดยเฉพาะเมื่อมีการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงตั้งแต่ประเทศจีนโน่น อย่างไรก็ตามมันไม่ลดความงามของหนองปลาบึกโดยเฉพาะช่วงหน้าแล้งเมื่อน้ำลดลงนับสิบเมตร แก่งหิน หาดหิน หาดทราย โผล่อวดโฉมทักทายจนเราแทบเดินข้ามฝั่งไปประเทศลาวได้เลยเชียว และตอนนี้ที่หนองปลาบึกเขากำลังเตรียมจัดทำจุดชมวิวมุมสูงให้ชมกันด้วย ไม่แน่ในขณะที่ผู้อ่าน อ่านบทความนี้ จุดชมวิวมุมสูงที่หนองปลาบึก อาจสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ช่วงฤดูหนาวทุกปีจะมีนักท่องเที่ยวมาสัมผัสอากาศดีๆ ชมวิวสวยๆ ที่หนองปลาบึก เราไม่อยากให้คุณพลาดหรอกนะ

แผ่นศิลาจารึกพระนาม  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติผาแต้ม วันที่  20 พฤษภาคม พ.ศ. 2531...